ลองคิดดูว่า ถ้าในทุกเช้าเราตื่นก่อนที่นาฬิกาปลุกจะดัง ด้วยเหตุผลบางอย่างที่เรารู้สึกว่า เราอยากจะออกไปพบ ไปเจอ ไปทำ
ชีวิตแบบนั้นคงเป็นชีวิตที่มีชีวามาก ถ้านักเรียนตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วรู้สึกว่า อยากไปโรงเรียน อยากไปเจอเพื่อ เจอครู
อยากไปเรียนวิชาฟิสิกซ์หรือวิชาอื่น หรือถ้าพนักงานในองค์กรตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกที่ว่าอยากไปทำงานเร็วๆ
และกลับบ้านด้วยความอาลัยอาวรณ์ว่าหมดวันที่จะต้องทำงานแล้ว และก็เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะถึงพรุ่งนี้เร็วๆ จะได้กลับไปทำงานต่อ
สิ่งนี้น่าจะเป็นอุดมคติในการทำงาน ที่ผู้บริหารทุกคนอยากให้เกิดขึ้นกับพนักงานของตนเอง รวมทั้งอยากให้เกิดขึ้นกับตนเองด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ แนวคิดเรื่อง IKIGAI จึงเป็นอะไรที่น่าสนใจและน่าจะทำให้เกิดในองค์กร
คำว่า IKIGAI อ่านออกเสียงว่า อิคิกาอิ หรือ อิคิไก ซึ่งมาจากคำศัพท์ 2 คำ นั่นคือ อิคิ(IKI) กับ ไก(GAI) อิคิ หมายถึง ชีวิต หรือการมีชีวิต เช่นคำว่า อิคิรุ(IKIRU) แปลว่า มีชีวิตอยู่ ส่วนคำว่า ไก นั้น หมายถึง คุณค่า เหตุผล รางวัล
เมื่อคำสองคำนี้มารวมกัน คำว่า IKIGAI จึงต้องการความหมายในเชิงว่า
ความหมายของการมีชีวิต เหตุผลในการมีชีวิต คุณค่าของชีวิต บางครั้งก็ใช้ความหมายประมาณว่าเหตุผลที่เราตื่นมาในทุกเช้า ถ้าเราพิจารณาจากรากศัพท์ดีๆ จะพบว่า อิคิไก ไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่สำคัญคือ “ไม่ใช่แค่สิ่งเดียว” เพราะโลกของเราหมุนไปด้วยกฎธรรมชาติข้อหนึ่งที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในช่วงหนึ่ง เหตุผลที่ทำให้เราตื่นมาในทุกเช้าอาจจะเป็นเพื่อนสนิทของเราที่เราแอบชอบมานานแล้ว ที่เรารู้สึกว่าอยากไปเรียน ไม่ใช่เพราะอยากเรียน แต่เพราะเราอยากเจอเขา ในแง่นี้ คนๆนี้ก็คือ อิคิไกของเรา เขาคือเหตุผลที่เราทำเราตื่นมาในทุกเช้า คือเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตของเรามีความหมาย ในอีกช่วงชีวิต สิ่งที่มีความหมายกับเรามากๆอาจจะเป็นศิลปิน นักร้อง วงดนตรี หรือกลุ่ม
ไอดอลจากต่างประเทศ
กระแสของเกิร์ลกรุ๊ป BNK48 น่าจะตอบโจทย์ในประเด็นนี้ เราจะเห็นกลุ่มแฟนเพลงที่เรียกตนเองว่า โอตะ ตามไปเชียร์เมมเบอร์ที่ตนเองชื่นชอบ หลายคนไม่ได้อยู่ในกรุงเทพ หลายคนนั่งเครื่องบินมาจากเชียงใหม่เพียงเพราะต้องการมาจับมือกับศิลปินที่ตนเองชื่นชอบภายในเวลา 8 วินาที บางครั้งคิวแสดงมีตอน 18.00 น. แต่กลุ่มโอตะก็รีบตื่นแต่เช้าเพื่อมาจับจองที่นั่งที่ตนเองจะสามารถเห็นเมมเบอร์ได้ชัดที่สุดตั้งแต่ 06.00 น. เป็นการตื่นตั้งเช้ามานั่งรอ 6-7 ชั่วโมง เพื่อเจอเมมเบอร์แค่ไม่กี่นาที ในแง่นี้ เมมเบอร์ก็คือ อิคิไก ของเหล่าโอตะ คือเหตุผลที่ทำให้เหล่าโอตะตื่นมาในทุกเช้า
ในอีกช่วงชีวิต ตอนที่พึ่งจบการศึกษาและเข้าทำงาน พนักงานหน้าใหม่จะรู้สึกว่าการทำงานเป็นเรื่องสนุก เป็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง หลายคนเลิกงานแล้วก็ยังเอางานกลับไปทำไปดูที่บ้าน และตื่นมาด้วยความรู้สึกว่าอยากไปทำงาน อยากสร้างสรรค์ผลงานดีๆออกมา ในแง่นี้ งาน ก็คือ อิคิไก ของคนๆนั้น
ในอีกช่วงชีวิต หลังจากแต่งงานและมีลูก ลูกกลายเป็น อิคิไกของเรา กลายเป็นเหตุผลที่เราต้องตื่นมาทำงาน เป็นเหตุผลที่เรามีชีวิตอยู่ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของเรา อิคิไก คือเหตุผล คือความหมาย ถ้าจะพูดให้ชัดขึ้นก็คือ เป็นสิ่งที่เรา “ให้ความหมาย” ว่ามีความหมายต่อชีวิตของเรา ดังนั้นคนเราจึงมีอิคิไกได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับบริบทของชีวิตในขณะนั้นว่า เราให้ความหมายกับอะไร
คอนเซปของอิคิไกก็มีเพียงเท่านี้ หากแต่เพื่อให้ชัดเจนขึ้นจึงมีการพัฒนาโมเดลขึ้นมาหลายตัวเพื่อใช้อธิบายอิคิไก เช่น โมเดลวงกลมซ้อนกัน 4 วง ที่พยายามอธิบายว่า อิคิไกคือการวมของ Passion, Mission, Vocation และ Profession นอกจากนั้นหากศึกษาค้นคว้าลงไปก็จะพบอีกหลายโมเดลที่อธิบายเรื่องอิคิไก เจตนาที่ผมต้องการจะสื่อก็คือ โมเดลของอิคิไก คือมุมมองของปัจเจกบุคคล เราไม่จำเป็นต้องนำโมเดลนั้นมาเป็นเกณฑ์หรือมาตรฐานในการประเมินว่า ถ้ามีครบตามนี้แล้วถึงจะเรียกว่ามีอิคิไก ถ้าไม่มีภือว่าไม่ใช่ เพราะจนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีโมเดลอิคิไกใดๆที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นโมเดลมาตรฐานที่สำคัญที่ผมอยากจะสื่อสารให้กับท่านผู้อ่านทราบก็คือ เรื่องอิคิไก(ในตอนนี้) เป็นเพียงแค่แนวคิด
ผมวงเล็บว่าในตอนนี้ เพราะปัจจุบันแนวคิดนี้ยังไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นศาสตร์ แต่ก็มีความเป็นไปได้ในอนาคตที่แนวคิดนี้จะถูกนำไปพัฒนาจนกลายเป็นศาสตร์ๆหนึ่งได้กลับมาที่ความหมายอีกครั้ง
ในข้างต้นผมได้บอกไปแล้วว่า อิคิไก คือ อะไรบางอย่างที่เราไปให้ความหมายมันว่ามันสำคัญกับชีวิตของเรา ดังนั้นถ้าเราลองแยกองค์ประกอบตามความหมายนี้ ก็จะพบคีย์เวิร์ดที่สำคัญ ซึ่งได้แก่อะไรบางอย่างตัวเราการให้ความหมายสำคัญชีวิตใน
ข้อแรก “อะไรบางอย่าง”
หัวข้อนี้ผมได้อธิบายไปแล้วว่า อิคิไกมันจะเป็นอะไรก็ได้ เป็นคนก็ได้ เป็นงานก็ได้ ไม่ได้จำเพาะว่าต้องเป็นอาชีพเท่านั้น
ข้อที่สอง “ตัวเรา”
หมายถึงว่า อิคิไกมันเป็นเรื่องของเรา เพราะงั้น อิคิไกของเราไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น และก็ไม่จำเป็นต้องแตกต่างจากคนอื่น มันไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยภายนอกใดๆ แต่อยู่ที่ตัวเราคนเดียว และคำว่า “ตัวเรา” ยังหมายความว่า เรานี่แหละที่เป็นคนทำให้อะไรบางอย่างนั้นคืออิคิไก เราสามารถเลือกได้ อะไรที่ที่เราบอกว่านั่นคืออิคิไก ก็เพราะเราเลือกว่าจะให้มันเป็นอิคิไก เช่นกัน อะไรที่เราบอกว่า นั่นไม่ใช่อิคิไกของเรา ก็เพราะเราเลือกว่าไม่ให้สิ่งนี้เป็นอิคิไก (เรื่องนี้จะอธิบายเพิ่มเติมในบทต่อไป)
ข้อสาม “การให้ความหมาย”
ในกรณีนี้หมายถึงการให้คุณค่า ให้ความสำคัญ เช่น การทำรายงานเสนอผู้บริหาร โดยที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยอ่าน กิจกรรมนี้ควรเป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อ แต่ถ้าเราลอง “ให้ความหมาย” กับการทำรายงานดู มันก็จะดูสำคัญขึ้นมาเอง เช่น เราบอกว่าการทำรายงานเป็นการช่วยฝึกการเรียบเรียงความคิด ฝึกการเขียน ทำให้เราได้รับทราบว่าผู้บริหารต้องการข้อมูลแบบใดในการพิจารณา เป็นการเรียนรู้การบริหารวิธีลัด ฯลฯ เห็นมั้ยครับว่า แค่เราให้ความหมายกับสิ่งนั้น มุมมองเราจะเปลี่ยนไป พลังในการทำงานก็จะเปลี่ยนไป จากที่นั่งทำเบื่อๆ ก็กลายเป็นมีพลังในการทำงานขึ้นมา ยิ่งเราให้ความหมายกับสิ่งนั้นมาก พลังยิ่งมาก และเมื่อถึงจุดนึง สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้เราตื่นขึ้นมาในตอนเช้าได้
ข้อสี่ “สำคัญ”
อันนี้ย้ำเพิ่มจากข้อสาม คือเมื่อให้ความหมายแล้ว ความหมายนั้นต้องทำให้รู้สึกว่าสำคัญด้วย
ข้อสุดท้าย “ชีวิต”
อิคิไกเป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตครับ อะไรก็ตามที่ทำให้ดำเนินชีวิตลำบากหรือขัดขวางการดำเนินชีวิต สิ่งนั้นไม่ใช่อิคิไกทั้ง 5 ข้อนี้ผมจะอธิบายแยกเป็น 5 บทความ เพราะรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละข้อมีจำนวนมาก ถ้าเขียนไว้ในบทความเดียวก็จะยาวเกินไปเจตนาของบทความนี้ ผมเพียงแต่อยากให้ท่านผู้อ่านได้ทำความเข้าใจกับความหมายของอิคิไกก่อนครับ จากนั้นผมจะค่อยๆอธิบายวิธีการสร้าง IKIGAI organization ในลำดับถัดไป