ทบทวนกันก่อนมีอะไรเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงปัจจุบัน 9 มกราคม 2564 เราเริ่มปี 2564 ด้วยความท้าทายกับการระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่องจากเมื่อปลายปี 2563 การระบาดระลอกใหม่ เริ่มตั้งแต่ธันวาคม 2563 การระบาดครั้งนี้มาจากแรงงานพม่าในตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร จากการลักลอบเข้าประเทศ (ภาครัฐแจ้งว่าเป็นการลักลอบเข้าออกจากช่องทางธรรมชาติ) ของคนไทยที่ไปเล่นการพนัน ไปทำงานในประเทศเมียนมา จากแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง จากนักพนันที่ไปเล่นการพนันในบ่อนการพนัน (หรือที่ภาครัฐพยายามจะเรียกว่าสถานที่ลักลอบเล่นการพนัน) ในบ่อนไก่ ในจังหวัดต่างๆ รวมถึงกรุงเทพฯ
การระบาดรอบใหม่ ความท้าทายสำหรับประเทศไทย และการเรียนรู้ เรียนลัด ประเมินจากสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ประเทศไทยนับว่าโชคดี ตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งแรกเมื่อปลายปี 2562 การแพร่ระบาดเกิดขึ้นในต่างประเทศก่อน และมีเวลาให้เราเรียนรู้ ตั้งหลักพอสมควร ก่อนที่การแพร่ระบาดจะมาถึงประเทศไทย เราจึงสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ หากเราเฝ้าสังเกตให้ดี และไม่ตื่นตระหนกจนมากเกินไป เราจะสามารถนำวิธีการปฏิบัติต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการจัดการกับการแพร่ระบาดได้ และประเทศไทยก็จัดการกับการแพร่ระบาดในครั้งแรกได้ดี จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ด้วยความสามารถของบุคลากรด้านสาธารณสุข ระบบสาธารณสุข ผู้นำและที่สำคัญอย่างยิ่งความร่วมมือของประชาชนคนไทย
สำหรับการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2563 ก็เช่นกัน การแพร่ระบาดในต่างประเทศยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก ณ วันที่ 11 มกราคม 64 มีทั้งสิ้น 90.2 ล้านคน เพิ่มจากวันที่ 26 ธันวาคม 63 มีผู้ติดเชื้อเพียง 79.9 ล้านคน หลายประเทศชั้นนำของโลก สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง และหลายประเทศมีการระบาดในรอบที่ 2 รอบที่ 3 รวมถึงในหลายประเทศมีผ่อนคลายมาตรการแล้วกลับมาล็อคดาวน์อีกหลายครั้ง เราได้เรียนรู้และจะนำมาประยุกต์ปฏิบัติอะไรได้บ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่มิถุนายน 2563 มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มีการเดินทาง การทำกิจกรรมต่างๆ การท่องเที่ยว การใช้ชีวิตประจำวันอย่างที่ไม่ต้องกังวลมากนัก จนกระทั่งมาถึงเกิดการระบาดระลอกใหม่ในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งในครั้งนี้มีผู้ติดเชื้อมากกว่าในครั้งแรกจำวนมาก และจากการเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ หากเราจัดการกับระบาดระลอกใหม่ไม่ดีพอ มีโอกาสที่การแพร่ระบาดจะรุนแรง และเราอาจเห็นจำนวนผู้ที่ติดเชื้อในประเทศจำนวนมากเป็นจำนวนหลักหลายหมื่น หลักหลายแสนได้ ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่คราวนี้มีขนาดที่ใหญ่มาก เราไม่สามารถสืบค้นหาต้นตอของการแพร่ระบาดได้ เราต้องตรวจหาเชื้อในแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยซึ่งมีไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน ต้องเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่มีโอกาสมากเป็นจำนวนหลักแสนคน ซึ่งขนาดของปัญหานี้ภาครัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้แต่เพียงฝ่ายเดียว ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม คนไทยทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ให้ความร่วมมือ รวมถึงสนับสนุนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความร่วมมือในการดูแลตนเอง รักษาระยะห่างทางสังคม การตรวจหาผู้ป่วย รวมถึงสามารถเข้ามามีส่วนการช่วยสร้างโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่พักพิงเพื่อรองรับผู้ป่วย
การจัดการกับการแพร่ระบาด COVID-19 ความหวังอยู่ที่วัคซีน COVID-19 เป็นโรคระบาดใหม่ เชื้อโรคใหม่ก็ต้องการวัคซีนใหม่ และการแพร่ระบาดของโรคระบาด COVID-19 ก็เกิดจากไวรัสที่เราไม่รู้จัก เราจะบอกว่าเรารู้จัก COVID-19 ดีพอได้ก็ต่อเมื่อเรามีวัคซีนป้องกัน และข่าวดีก็คือขณะนี้มีการรับรองวัคซีนหลายชนิดและในหลายประเทศก็ได้เริ่มแจกจ่ายวัคซีนกันแล้ว นอกจากนี้จนถึงขณะนี้มีความพยายามมากมายจากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเราในการพัฒนาวัคซีนเพื่อจัดการกับ COVID-19 โดยมีวัคซีนที่พัฒนามาถึงระยะสุดท้าย ระยะที่เรียกว่า Clinical Development แล้ว มากกว่า 60 ชนิด สำหรับประเทศไทยน่าจะเริ่มมีการแจกจ่ายวัคซีนได้ชุดแรกได้ในไม่เกินเดือนเมษายนนี้ อย่างไรก็ดีเราไม่น่าจะสามารถแจกจ่ายวัคซีนให้กับคนไทยทุกคนในปี 2564 แม้กระทั่งในชณะนี้ยังมีการประเมินสถานการณ์กันอย่างมากมายทั่วโลก และยังคงคาดว่าศึกครั้งนี้คงยังไม่จบลงในเร็ววัน ล่าสุด Lisa Wieland ซึ่งเป็น CEO ของ Boston Logan Airport ได้กล่าวไว้จากการสัมภาษณ์ของ McKinsey & Company ว่า “Prepare for the Marathon and be ready for the course of change” ดังนั้นจากการประเมินเราคงต้องอยู่กับ COVID-19 ไปอีกไม่น้อยกว่า 12 เดือน จนกระทั่งเรามีวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพียงพอ คำถามคือเราคนไทยจะอยู่กับ COVID-19 อย่างไร
ล่าสุดกับความท้าทายใหม่ ไวรัสกลายพันธุ์ COVID-19??? ในขณะนี้มีความท้าทายใหม่เกิดขึ้น ที่ล่าสุดสาธารณสุขของอังกฤษมีรายงานออกมายืนยันเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส COVID-19 คำถามที่ตอนนี้ต้องหาคำตอบกันก็คือวัคซีนมีกันอยู่ หรือที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอยู่ในขณะนี้จะสามารถจัดการกับ COVID-19 ที่กลายพันธุ์นี้หรือไม่ ซึ่งยังคงเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป
ภาครัฐควรจะจัดการกับการแพร่ระบาดครั้งนี้อย่างไร
จากบทเรียนครั้งที่ผ่านมาภาครัฐคงเลี่ยงที่จะใช้มาตรการล็อคดาวน์แบบในคราวแรก ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงจากการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างขนาดนี้ มาตรการดังกล่าวก็อาจจะไม่ได้ผล เพราะเราคงไม่สามารถทราบที่มาที่ไป ต้นตอของการแพร่ระบาดได้ สิ่งที่ควรต้องทำเร่งด่วนคือต้องพยายามตรวจคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อแล้วโดยเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดแบบกลุ่มให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มแรงงานต่างด้าว ผู้ที่ลักลอบข้ามแดนไปทำงาน หรือไปเล่นการพนัน
เราคนไทยจะอยู่กับ COVID-19 อย่างไร เราควรทำตัวอย่างไร
กับคำถามที่ว่าสำหรับประชาชนทั่วไป เราคงต้องอยู่กับ COVID-19 ไปอีกไม่น้อยกว่า 12 เดือน เราควรทำตัวอย่างไร เราควรตระหนัก ไม่ตระหนก เราคงไม่สามารถหยุดอยู่กับที่แล้วรอจนกระทั่งให้ไวรัสหายไป สิ่งที่เราควรต้องทำคือพยายามทำกิจกรรม กิจการที่ต้องทำ โดยหากภายในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนนี้ ประมาณวันที่ 24 มกราคม 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันไม่พุ่งขึ้นเป็นหลักหลายพันคน ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ภาครัฐก็น่าที่จะคลายมาตรการเรื่องขอความร่วมมือในการจำกัดการเดินทางลง และเราคงต้องดูแลตนเองด้านสุขอนามัยอย่างต่อเนื่อง โดยการใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ กินร้อน ช้อนกลางของเรา หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะร่วมกันกับผู้อื่น รักษาระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในพื้นที่แออัด อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ครับ
Writer Profile
Udom Hongchatkul, Ph.D.
Founder & CEO Social Lab Thailand