Imagine Chicago เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 1992 ก่อตั้งโดย Bliss Browne โดยการรวมเอาพลเมืองที่หลากหลายของชิคาโกมาร่วมกันจินตนาการถึงเมืองชิคาโกในฝันที่ทุกคนอยากให้เป็น และให้ทุกคนร่วมสร้างชิคาโกแบบนั้นร่วมกัน ต้องเรียนแจ้งว่าที่ชิคาโกก่อนหน้านั้น เป็นเมืองที่มีสถิติอาชญากรรมสูง จนคนรู้สึกว่าไม่อยากอยู่ที่ชิคาโกอีกต่อไป หลายครอบครัวพยายามอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น ที่ชิคาโกตอนนั้นเป็นเหมือนเมืองแห่งฝันร้ายของผู้คน
คุณ Bliss Browne ที่ทำงานในชิคาโกตอนนั้น ก็สังเกตว่าหลายแห่งในชิคาโกถูกปฏิบัติแบบตัดหางปล่อยวัด คือก็ปล่อยให้มันเกิดอาชญากรรมอยู่อย่างนั้น คงจะคล้ายสลัมบางแห่งของประเทศไทยที่กลายเป็นแบรนด์ของแหล่งยาเสพติดไปแล้ว Bliss Browne ได้รับรู้ถึงความเครียดของผู้คนในเมือง ที่วิตกกังวลกับอนาคตของตัวเองว่าจะอยู่ยังไง เพราะคนส่วนมากต่างเสียชีวิตจากความรุนแรงและยาเสพติด Bliss Browne ก็เลยเริ่มชวนเพื่อนๆมาพูดคุยเกี่ยวกับอนาตของเมืองในแบบที่เห็นคุณค่าของพลเมืองทั้งหมด (พื้นหลังของ Bliss Browne คือ เขาเป็นคุณแม่ลูกสาม ก็ย่อมมีความเป็นห่วงอนาคตของลูกตนเองด้วย) พอดีนอกจากทำงานธนาคารในชิคาโกแล้ว Bliss Browne ยังเป็นผู้สอนศาสนาด้วย เขาก็เลยจัดมืทติ้งเรื่อง “ศรัทธา จินตนาการ และชีวิตสาธารณะ” ในคืนที่สอง ผู้เข้าร่วมก็ได้รับหัวข้อในการอภิปรายว่า ความฝันของพระเจ้าเกี่ยวกับเมืองของเรา (God’s dreams) ภาพในอนาคตของชิคาโกและชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ซึ่งสรุปได้ว่า ชิคาโกของทุกคนจะต้องเป็นที่ที่ทุกคนมีคุณค่า เป็นที่ซึ่งพลเมืองทุกคนใช้ความสามารถของพวกเขาเพื่อสร้างอนาคตที่ดีสำหรับตนเองและชุมชนของพวกเขา เป็นที่ที่ทุกคนมีความหวัง และเป็นที่ที่ทุกคนได้รับการสนับสนุนแนวคิด
หลังจากนั้น คุณ Bliss Browne ก็ได้ขยายเครือข่ายไปเรื่อยๆ จนสามารถสร้างชิคาโกให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่ได้ ผมอ่านข่าวเรื่องฝุ่นละอองในวันนี้ ก็นึกถึงเรื่อง Imagine Chicago ขึ้นมาทันที
ไม่ใช่แต่กรุงเทพหมานคร แต่มีอีกหลายแห่งในประเทศไทยที่ถูกปฏิบัติแบบตัดหางปล่อยวัด ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ได้มาจากเจตนา แต่มาจาก “ความสิ้นหวัง” ในการแก้ปัญหา
หลายครั้งที่เรามักได้คำตอบเวลาจะพัฒนาอะไรซักอย่างว่า “ทำไปก็เท่านั้น” หรือ “ทำไปก็เหมือนเดิม” คำพูดเหล่านี้แสดงถึงความสิ้นหวังอย่างชัดเจน ที่ชิคาโกก่อนปี 1992 ก็คงเป็นแบบนั้น
แต่ตรรกะของผมก็ง่ายมาก ในเมื่อเมืองที่สิ้นหวังอย่างชิคาโกสามารถดีขึ้นมาได้ แล้วทำไมประเทศไทยถึงจะทำอย่างนั้นไม่ได้
เราทำได้ แต่เราต้องสร้าง “ความหวัง” ขึ้นมาก่อน
เราต้องปลุกศรัทธาคนขึ้นมาก่อน ว่าเขาสามารถอยู่ในเมืองที่ดีกว่านี้ได้
และที่สำคัญคือ เขาสามารถ “มีส่วนร่วม” ในการสร้างชุมชน สร้างเมืองที่ดีได้
มันยังไม่ช้าไป ถ้าเราจะเริ่มมา Imagine Thailand ด้วยกัน ใน Imagine Chicago เรียกเทคนิคนี้ว่า Power of two ครับ หลักการก็คือ ถ้าคน 1 คน ร่วมกันบอกต่อแนวคิดนี้ให้กับคนอื่นอย่างน้อย 2 คนต่อหนึ่งวัน ภายในเวลา 10 วันจะมีคนที่รู้เรื่องนี้ 2,047 คน ภายใน 15 วัน จะมีคนรู้เรื่องนี้ 65,535 คน ภายใน 1 เดือน จะมี 2.1 ล้านคน ที่รับรู้เรื่องนี้ แค่เราบอกต่อแนวคิด และชวนกันมาพูดคุยและหาทางสร้างชุมชนของเราด้วยกัน เราก็สามารถเริ่ม Imagine Thailand ได้จากกการกระทำเล็กๆเหล่านี้แล้วครับ