กฎ 11 ข้อของนักคิดเชิงระบบนี้ ผมพบจากหนังสือ The Fifth Discipline ของอาจารย์ Peter Senge
ซึ่งฉบับที่ผมอ่านไม่แน่ใจว่าเป็นฉบับพิมพ์ปี 2004 หรือ 1994 นี่แหละครับ ค่อนข้างนานพอสมควร
โดยในตอนนั้นผมบันทึกไว้แต่หัวข้อทั้ง 11 หัวข้อ ไม่ได้ลงรายละเอียดแต่อย่างใด ทำให้เวลานำไปปรับใช้
ผมก็จะเอาไปแต่หัวข้อ ส่วนเนื้อหาข้างในแต่ละหัวข้อนั้น จะเป็นสิ่งที่ผมประสบมาด้วยตัวเองมากกว่า
ล่าสุดผมกลับไปเปิดดู The Fifth Discipline อีกครั้งและก็อ่านเนื้อหาของกฎทั้ง 11 ข้อจนหมด
และพบว่าเนื้อหาในหนังสือตรงกับสิ่งที่ผมประสบมา ก็เลยรู้สึกสบายใจที่จะมาเล่าครับ
เพื่อไม่ให้เนื้อหายาวเกินไป ผมจะแบ่งออกเป็น 3 ตอนนะครับ ตอนละ 4 ข้อ เริ่มกันเลย
1. ปัญหาของวันนี้ มาจาก “การแก้ปัญหา” ของเมื่อวาน
ผมเน้นย้ำคำว่า “การแก้ปัญหา” ครับ เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างหนึ่งของเรา
นั่นคือส่วนใหญ่เรามักคิดว่า ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ คือผลพวงการการก่อปัญหาขึ้นในอดีต
แต่ความจริงแล้วสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ คือ “ผลกระทบ” ที่เกิดจากการแก้ปัญหาต่างหาก
ด้วยสัญชาติญาณของมนุษย์ เราไม่ปล่อยสิ่งที่เรียกว่าปัญหาไว้นานหรอกครับ สัญชาติญาณของเราคือ
เมื่อเกิดปัญหาต้องรีบแก้(เป็นสัญชาติญาณการเอาตัวรอดจากอันตราย) ดังนั้นไม่มีปัญหาใดที่จะถูกปล่อย
ทิ้งไว้ให้เป็นปัญหาในอนาคต มันจะต้องถูกแก้ไข ประเด็นคือการแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
คือเอาให้มันผ่านๆไปก่อน มันจะเป็นยังไงเดี๋ยวค่อยว่ากัน สิ่งนี้แหละครับที่ทำให้เราเพิกเฉย
ต่อ Side effect ที่เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหาของเรา
ตัวอย่างเช่น การทำรัฐประหารเพื่อจัดการความวุ่นวายของบ้านเมือง เป็นต้น ผมเชื่อว่าท่านที่ทำต่างก็
ทำด้วยเจตนาที่ดีครับ เพียงแต่การแก้ปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า มันมี Side effect และ
Side effect เหล่านั้นก็ค่อยๆก่อตัวกลายเป็นปัญหาในอนาคต ประเทศเราถึงมีการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ตลอด
เวลาไงครับ พอถึงจุดหนึ่งที่ปัญหามันกลับมาพันตัว เราก็หาทางออกด้วยการร่างใหม่ แล้วก็รอให้มันมา
พันตัวอีกครั้ง แล้วก็ร่างใหม่อีกครั้ง วนไปเรื่อยๆ
2. ยิ่งคุณผลักดันอย่างหนัก ระบบจะยิ่งผลักกลับมาแรงกว่า
ในหนังสือเรื่อง Animal farm จะมีตัวละครตัวนึงเป็นม้าครับ ชื่อว่า Boxer เจ้า Boxer มีความเชื่อว่ายิ่งเรา
ทำงานหนัก เราก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น สุดท้ายสิ่งที่ได้ก็คือ ยิ่งพยายามอย่างหนัก ก็ยิ่งเจอกับอะไรที่ต้อง
ใช้ความพยายามมากขึ้น คล้ายๆคนในองค์กรเหมือนกันครับ เวลาเราพยายามทำอะไรซักอย่างแล้วมันล้มเหลว
เราจะทำมันหนักขึ้น ถ้าเป็นภาษามวยเขาเรียกว่า อยากแก้มือหรืออยากเอาคืน เหมือนเวลาโดนชกล้มแล้ว
ก็มักจะรีบลุกขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แล้วก็ปรี่เข้าไปหาคู่ต่อสู้เพื่อเอาคืน ประเด็นก็คือ การรีบเร่ง การพยายามสุดกำลัง
การทุ่มเทแรงทั้งหมด มักจะทำอย่างขาดสติครับ มันทำให้เรา “ลืม” พิจารณาก่อนว่า
เรามีส่วนอะไรในการทำให้ความล้มเหลวนั้นเกิดขึ้น มันทำให้เรา “ลืม” พิจารณาว่า เรามีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบนี้อย่างไร
มีพฤติกรรมอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้เกิดความล้มเหลว
ในการบรรยาย ผมชอบยกตัวอย่างการหลับหูหลับตาแก้ปัญหาว่า เหมือนแมลงบินชนกระจกครับ
ผมเคยเห็นแมลงที่บินชกกระจกอย่างแรงเพราะมันต้องการจะออกจากห้อง เห็นใสๆนึกว่าผ่านไปได้
ก็เลยบินชนซะเต็มแรง ประเด็นคือพอมันชกกระจกอย่างแรงจนตัวเองกระเด้งกลับ
สิ่งที่มันทำก็คือบินชนกระจกอีกครั้งให้แรงกว่าเก่า แล้วก็กระเด้งออกมาอีก ไม่ว่าจะหัวโนหัวแตกยังไง
เจ้าแมลงตัวนี้ก็ยังคงพยายามบินชนกระจกอยู่นั่น มันขยันมากนะครับ ทุ่มเทมากด้วย แต่มันก็ยังออกจากห้องไม่ได้
บางที แค่เพียงมันหยุด แล้วก็มองว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคืออะไร มันคงออกจากวังวนการบินชนกระจกได้แล้ว
3. พฤติกรรมจะดีขึ้น ก่อนที่มันจะแย่ลง
ข้อนี้ผมเรียกเองว่า “คำสัญญาตอนซึ้ง” ไม่รู้ว่าเคยกันมั้ยที่เวลาเราไปเข้าค่ายอะไรซักอย่าง
คืนวันสุดท้ายเขาจะให้มานั่งล้อมวงเปิดใจอ่ะครับ แล้วบรรยากาศตอนนั้นจะซึ้งมาก บางคนร้องห่มร้องไห้
สัญญากันว่าเราจะไม่ลืมกัน เธอคือเพื่อนที่ดีที่สุดของฉัน ใครที่จัดทีมบิ้วดิ้งจะเจอภาพนี้บ่อยๆครับ
คนในองค์กรกอดกัน ร้องไห้ เราจะรักกัน เราจะร่วมกันทำให้องค์กรดีขึ้น สุดท้ายยังไม่ถึงองค์กรเลย
แค่นั่งรถบัสตอนกลับก็ทะเลาะกันแล้ว
บางคนไปอบรมเรื่องใหม่มา โอ้โห อินมาก เราจะเอาเครื่องมือนี้แหละไปพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น
ซึ่งก็ไปทำจริงๆครับ แต่พอผ่านไปสองอาทิตย์ ทุกอย่างก็หายไปพร้อมสายลม
สมัยเรียนผมกับเพื่อนเป็นประจำ พอเปิดเทอมใหม่ปุ๊บ มาเรียนวันแรก สิ่งที่เราบอกกันก็คือ
“เทอมนี้ไม่เอาแล้วนะ เทอมนี้ตั้งใจนะ” แล้วก็พากันไปซื้อสมุดซื้อปากกาอะไรเต็มไปหมด อยู่ได้ไม่เกินสองอาทิตย์
ทุกอย่างก็จางไปกับฝุ่น PM2.5 แล้วพอเปิดเทอมใหม่เราก็ยิ้มอายๆให้กันแล้วก็บอกว่า
“แหะๆ เทอมนี้ไม่เอาแล้วนะ เทอมนี้เอาใหม่นะ”
ทุกอย่างแหละครับ ในตอนแรกมันจะดีหมด นักคิดเชิงระบบต้องอย่าไปติดกับเรื่องพวกนี้
และถ้าเจอพฤติกรรมออกตัวแรงในช่วงแรก ยิ่งต้องระวังมากขึ้น เพราะนั่นคือสัญญาณของการหมดก๊อกในอนาคตอันใกล้ครับ
4. ทางออกง่ายๆ จะพาเราวนกลับมาที่เดิมอีกครั้ง
เวลาเกิดปัญหาขึ้น เรามักจะใช้แก้ปัญหาด้วยวิธีที่เราคุ้ยเคยที่สุด หรือวิธีที่เรารู้ดีที่สุด
ซึ่งก็มักจะพาให้เราต้องกลับมาแก้ปัญหาเดิมๆเสมอ
เกษตรกรมีปัญหาพืชผลราคาตกต่ำ ถามว่ารัฐบาลทำยังไงครับ?
ผมเชื่อว่าทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันเลยคืออุดหนุนราคาพืชผลไง
เกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้น คิดว่าเราทำยังไงครับ? ตอบเหมือนกันอีกแล้วใช่มั้ย ก็แจกถุงยังชีพสิ
ผมถามว่าชาตินี้ เราเคยได้ยินการแก้ปัญหาให้เกษตรกรด้วยการอุดหนุนราคากี่ครั้งแล้ว
เราได้ยินว่าพื้นที่บางจังหวัดน้ำท่วมมากี่ปีแล้ว เราได้ยินว่าแจกถุงยังชีพกันกี่ครั้งแล้ว หน้าหนาว
เราได้ข่าวการเอาผ้าห่มไปแจกกี่ครั้งครับ
การแก้ไขปัญหาของเรา แทบไม่เคยทำให้ปัญหาหมดไปเลย เรายังคงต้องกลับมาแก้ปัญหาแบบเดิมๆ
เมื่อ 10 ปีที่แล้วเคยประชุมกันแก้ปัญหาเรื่องอะไร ตอนนี้เราก็ยังคงต้องมาประชุมแก้ปัญหาเดิมๆ
มันแปลว่าอะไร? แปลว่า 10 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้ขยับไปไหนเลยรึเปล่า?
เรามักแก้ปัญหาด้วยวิธีที่เราถนัดเสมอ และผลลัพธ์ก็คือ ปัญหานั้นมันก็วนให้เรากลับมาแก้(ด้วยวิธีเดิม)เสมอเช่นกัน