กฎ 11 ข้อของนักคิดเชิงระบบ (ตอนที่ 2)

คราวที่แล้ว เราได้พูดถึงกฎของการคิดเชิงระบบไป 5 ข้อได้แก่ หนึ่ง ปัญหาของวันนี้ มาจาก “การแก้ปัญหา” ของเมื่อวาน สอง ยิ่งคุณผลักดันอย่างหนัก ระบบจะยิ่งผลักกลับมาแรงกว่า สาม พฤติกรรมจะดีขึ้น ก่อนที่มันจะแย่ลง และสี่ ทางออกง่ายๆ จะพาเราวนกลับมาที่เดิมอีกครั้ง

ในครั้งนี้เราจะมาต่อกฎข้อที่เหลือกันครับ

 

 

5. การรักษาอาจจะร้ายยิ่งกว่าตัวโรคภัยไข้เจ็บ

เพราะบางครั้งการแก้ปัญหาง่ายๆแบบที่เคยทำมานั้น ไม่เพียงแต่ด้อยประสิทธิภาพ แต่ยังอาจทำให้เกิดการเสพย์ติดได้

ข้อนี้ต้องการความหมายว่า การที่เราเข้าไปช่วยใครซักคน ถ้ามากและบ่อยจนเกินไปอาจจะทำให้เขาเสพย์ติดการพึ่งพา จนสุดท้ายคนๆนั้นก็จะลดความสามารถของตนเองลง เพื่อที่จะได้การช่วยเหลือมากขึ้นไปอีก จนสุดท้ายก็กลายเป็นภาระของคนช่วยไป

ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือเรื่องการให้เพื่อนยืมเงินครับ ร้อยละ 90 ของคนที่ผมสัมภาษณ์พูดตรงกันว่า เมื่อให้คนๆหนึ่งยืมเงินแล้ว แม้ว่าเขาจะนำมาคืนตรงเวลา แต่เขาก็จะมาขอยืมอีกในครั้งต่อไป คล้ายๆว่าเราเป็นที่พึ่งให้เขาได้ พอเขามีปัญหา เขาก็จะมาพึ่งอีกเรื่อยๆ จนสุดท้ายการคืนเงินก็มีค่าเท่าการยืมเงิน เพราะเอามาคืนปุ๊บก็ยืมต่อทันที

เหมือนเรื่องการให้ปลาคนครับ ถ้าเกิดเราให้ปลาเขา เขาก็จะมาขอปลาเราเรื่อยๆ การแก้ปัญหาของเรามันทำให้เกิด Side effect แบบนี้ขึ้น (แม้เราจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม) เราจึงควรสอนให้เขาจับปลาเอง ให้เขาได้รับผิดชอบปัญหานั้นได้ด้วยตนเอง เราช่วยเหลือโดยการสนับสนุนให้เขามีโอกาสในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ช่วยเหลือโดยการแก้ปัญหา

6. ยิ่งเร็ว ยิ่งช้า

ธรรมชาติของโลกนี้สร้างอัตราการเติบโตของสรรพสิ่งอย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น เด็กทารกต้องใช้เวลาอยู่ในครรภ์มารดาประมาณ 9 เดือนถึงจะคลอดออกมา การปรับปรุงให้มารดาใช้เวลาการอุ้มท้องน้อยลงอาจไม่เป็นผลดีเท่าไหร่ เพราะมันจะเกิดประโยชน์อะไรที่เราสามารถ “ลดเวลา” การทำงานลง แต่เด็กที่ออกมา อยู่ได้ไม่นานก็เสียชีวิต

ถ้าเราไป “เร่ง” เกินกว่าสมดุลที่ควรเป็น ระบบจะมีโปรแกรมการดึงกลับให้มาอยู่ในจุดสมดุลเสมอ เมื่อเราเริ่มวิ่งเร็วเกินกว่าที่สภาพร่างกายรับได้ เราจะค่อยๆเหนื่อยมากขึ้น และความเร็วจะถูกลดลงมาเพื่อให้อยู่ในระดับเดียวกับที่ร่างกายเรารับไหว

7. สาเหตุและผลลัพธ์อาจไม่ได้อยู่ในเวลาและพื้นที่เดียวกัน

ผมมีประสบการณ์โดยตรงกับกฏข้อนี้ตอนไปนวดครับ วันหนึ่งผมรู้สึกปวดหลังมากจึงไปนวดคลายเส้น ตกลงว่านวด 2 ชั่วโมง โดยผมได้แจ้งผู้ทำการนวดไปว่าผมปวดหลังอย่างเดียว และเขาก็รับทราบ

หนึ่งชั่วโมงผ่านไป เขานวดขาผมอย่างเดียว ขึ้นชั่วโมงที่สองถึงค่อยมานวดหลัง พอนวดเสร็จผมก็บอกเขาว่า คราวหน้าผมขอนวดชั่วโมงเดียวนะ เพราะผมไม่ได้ปวดขา ผมปวดหลัง ผมเห็นว่าพึ่งมานวดหลังในชั่วโมงที่สองนี้เอง คราวหน้าขอนวดหลังเลย ไม่ต้องนวดขา

เขาแจ้งผมด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า นวดขาก็คือนวดหลังนั่นแหละ การจะคลายเส้นที่หลังได้ มันต้องคลายเส้นที่ขาก่อน เพราะมันเป็นเส้นเดียวกัน ถ้าจู่ๆไปนวดหลังเลยผมจะไม่หายปวด

เขาพูดจบผมก็นึกถึงกฎข้อนี้ทันที มีหลายครั้งครับที่ปัญหาเกิดที่ “หลัง” แต่ทางออกของปัญหามันไม่ได้อยู๋ตรง “หลัง” ทางออกมันดันไปอยู่ตรง “ขา” ส่วนใหญ่เวลาปัญหาเกิดขึ้นตรงไหน เราก็มักจะไปแก้ตรงนั้น เหมือนปวดหลังก็นวดหลัง แต่หลายครั้งมันต้องไปแก้ตรงอื่นที่มองเผินๆแทบไม่เกี่ยวกับปัญหานั้นเลย (เช่น ขา เป็นต้น)

มีเรื่องหนึ่งน่ารักมาก เป็นการรณรงค์ให้เด็กนักเรียนลดน้ำหนัก ปกติคุณครูก็จะจัดกิจกรรมให้เด็กมาออกกำลังกาย ซึ่งก็ถูก น้ำหนักเกินก็ต้องออกกำลังกาย(ปวดหลังก็นวดหลัง) แต่เด็กส่วนใหญ่ก็ยังมีน้ำหนักเกินมาตรฐานอยู่

แต่มีครูท่านหนึ่งทำแปลกออกไป คือท่านเอากล้วยน่้ำว้ามาแจกเด็กตอนเย็น ให้เด็กกินก่อนกลับบ้าน ปรากฎว่าเด็กน้ำหนักลด เพราะกินกล้วยแล้วอิ่ม ทำให้ไม่กินของจุกจิกอย่างอื่น (ปวดหลัง แต่นวดขา)

น้ำหนักเกิน แต่ให้กินกล้วย ดูเผินๆมันไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกัน แต่ปรากฎว่าสิ่งที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องนี่แหละคือทางออกของปัญหา

8. การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยสามารถสร้างผลที่ยิ่งใหญ่ แต่จุดๆนั้นจะเห็นยากที่สุด

ตัวอย่างคลาสสิคของเรื่องนี้คือ การขับเรือครับ

สมมุติว่าตอนนี้มีเรือลำนึงที่ใหญ่มากๆ เป็นเรือบรรทุกที่เครื่องบินได้ 150 ลำ คำถามคือ เวลาเราจะบังคับให้เรือลำนี้หันไปทางขวา เราจะทำอย่างไรครับ

เราก็จะต้องไปหมุนพังงาเรือเพื่อไปขยับหางเสือให้เรือหันไปทางขวา แต่เรือลำใหญ่ขนาดนั้น ลองคิดดูสิครับว่าหางเสือของเรือมันจะขนาดไหน ลำพังกำลังแขนของเราไม่น่าจะสามารถไปหมุนหางเสือเรือที่ใหญ่ขนาดนั้นได้ ใช่ไหมครับ

สิ่งที่เราทำก็คือ เราจะมีหางเสือเล็กติดอยู่กับหางเสือใหญ่ แล้วเราจะไปหมุนเจ้าหางเสือเล็กนี่แหละ เพื่อให้หางเสือเล็กไปขยับหางเสือใหญ่อีกที

ประเด็นของเรื่องนี้ก็คือ การที่เรือขนาดใหญ่มากๆขับเคลื่อนไปได้นั้น มันเกิดจากหางเสือเล็กๆเท่านั้นเอง

เรามักจะคิดว่า ถ้าต้องการได้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ เราจะต้องเล่นใหญ่ ต้องทำอะไรมากๆเข้าไว้ แต่ความจริง เรื่องใหญ่ๆทุกอย่างล้วนเกิดจากการทำสิ่งเล็กๆอย่างต่อเนื่องทั้งสิ้น

9. คุณสามารถมีเค๊กและกินมัน แต่ไม่ใช่ในครั้งเดียว

ผมเรียกข้อนี้เล่นๆว่า “คำตอบที่ถูกที่สุดในจักรวาล”ครับ ผมเชื่อว่าในชีวิตของเราจะต้องเคยโดนถามคำถามประมาณว่า เพื่อนกับแฟนจะเลือกอะไร? ขี้เหล้ากับเจ้าชู้จะเลือกอะไร? หรือใกล้ตัวเราอีกหน่อยก็คือ ต้นทุนกับคุณภาพ เราจะเลือกอะไร?

ส่วนใหญ่ การเลือกหมายถึง การตัดสินใจทำอย่างหนึ่งและทิ้งอีกอย่างหนึ่งไป เช่นเรื่องต้นทุนกับคุณภาพ เรามักจะบอกว่า ถ้าต้องการต้นทุนต่ำๆก็ทำใจด้วยนะว่ามันจะไม่มีคุณภาพ หรือถ้าต้องการงานคุณภาพ ก็ทำใจด้วยว่ามันจะแพงแน่นอน

ความหมายของกฎข้อนี้ต้องการสื่อว่า เราแบ่งเค๊กกินได้ครับ ไม่จำเป็นต้องทุ่มทีเดียวหมด เราไม่จำเป็นจะต้องเลือกเด็ดขาดขนาดนั้นครับ เนื่องจากเราสามารถปรับปรุงการทำงานของเราได้เสมอ ของต้นทุนต่ำใช่ว่าจะด้อยประสิทธิภาพเสมอไป หรือของแพงก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป มันไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับเรื่องนี้

แท้จริงแล้ว คุณภาพก็คือต้นทุนอย่างหนึ่ง แต่เป็นต้นทุนในอนาคต เช่น เมื่อสินค้าดีมีคุณภาพ ผู้บริโภคก็เอาไปลงโซเชียล เกิดเป็นกระแสไวรัล ทำให้บริษัทประหยัดงบประมาณในการประชาสัมพันธ์บางส่วนได้ เห็นไหมครับว่าคุณภาพก็กลับมาเป็นต้นทุนได้

10 . การแบ่งครึ่งช้าง ไม่ได้ทำให้เกิดช้างเล็ก 2 ตัว

ข้อนี้สั้นๆครับ คือการมองภาพงาน ควรจะมองภาพรวมทั้งหมดของงาน มองให้เห็นความเชื่อมต่อ เหมือนว่าเวลาจะมองช้าง ก็ขอให้เรามองเห็นช้างทั้งตัว อย่าไปมองเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง เพราะมิฉะนั้นจะเหมือนเรื่องตาบอดคลำช้างอ่ะครับ คนตาบอกคนแรกไปจับที่หางก็บอกว่าช้างเหมือนเชือก คนที่สองไปจับตรงขาก็บอกว่าช้างเหมือนต้นไม้ ฯลฯ

ถ้าเรามองงานแยกส่วน มันก็เหมือนกับคนตาบอดคลำช้าง ที่คิดว่าสิ่งที่เรารู้มันถูกมันใช่ เพราะเห็นอยู่แค่นั้น เราต้องมองภาพรวมทั้งระบบ จึงจะได้ภาพช้างที่สมบูรณ์

11. อย่าตำหนิ

เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เรามักโทษสิ่งอื่นไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม องค์กร หัวหน้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ แต่การคิดเชิงระบบบอกว่า ไม่มีปัญหาใดที่กระทบกับเรา แล้วเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ถ้ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นกับเรา แสดงว่าเรามีส่วนในปัญหานั้นเสมอ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือ หยุดตำหนิสิ่งอื่น และกลับมามองว่า มีการกระทำอะไรของเรามีส่งผลให้เกิดปัญหานั้นขึ้น

 

 

ทั้งหมดนี้คือกฎ 11 ข้อของนักคิดเชิงระบบครับ จุดประสงค์ของการเขียนบทความนี้ก็คือ อยากอธิบายความหมายของกฎทั้ง 11 ข้อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจก่อน หลังจากนั้นผมจะค่อยเล่าถึงว่า การคิดเชิงระบบเกี่ยวข้องอย่างไรกับการบริหารจัดการองค์กร และเราจะสามารถสร้างการคิดเชิงระบบให้กับคนในองค์กรได้อย่างไร ซึ่งก็จะมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปครับ

อ้างอิงที่มาภาพ

1. https://aventislearning.com/public-seminars/system-thinking.html
2. https://dumielauxepices.net/vision-clipart/vision-clipart-strategic-thinking
3. https://thenonotesshow.wordpress.com/2016/02/14/apply-systems-thinking-and-theory-to-organizational-challenges/